วันเสาร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

บูรณาการข้าวไทย

ชาวนาล้อมวงบูรณาการข้าวไทย
เม็ดข้าวสุกบนจานร้อน มีระยะเดินทางเพียงแค่ช่วงแขนเดียวก็เข้าปากอย่างเอร็ดอร่อย
แต่การเดินทางของข้าวจากมือชาวนา กว่าจะหว่านเมล็ดพันธุ์ลงบนดิน กว่าจะงอกงามมาเป็นรวงข้าวเหลืองทองอร่าม ต้องอาศัยเวลาและองค์ประกอบหลายอย่างมากมาย
ทั้งแรงกาย แรงใจของชาวนา ทั้งดิน น้ำ อากาศที่เหมาะสมลงตัว
ข้าวแต่ละเม็ดจึงเปรียบได้กับหยดเหงื่อชาวนาผสมกับหยาดน้ำฝนจากสวรรค์ แต่ทุกวันนี้คนปลูกข้าวเลี้ยงดูผู้คนทั้งประเทศ (และอาจจะทั้งโลกก็ว่าได้) กลับมีสภาพชีวิตไม่ต่างพลเมืองชั้นล่าง
มูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี และสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ตระหนักถึงความสำคัญของชาวนา และรู้คุณค่าของข้าว จึงเชิญชาวนาจากหลายพื้นที่มาร่วมเคลื่อนไหว "การพัฒนาพันธุ์ข้าว" เพื่อต่อยอดองค์ความรู้เกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์ข้าวให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
ในวงสนทนาได้ถกประเด็นความรู้เรื่องเมล็ดพันธุ์ข้าว ความสำคัญต่อชาวนาและการเกษตรของประเทศ ถ้าชาวนามีความรู้ความสามารถในการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ขึ้นใช้เอง หรือแลกเปลี่ยนกัน จะเป็นประโยชน์ต่อการเกษตรยั่งยืนและเศรษฐกิจแบบพอเพียงอย่างมหาศาล
สารพัดปัญหาพันธุ์ข้าวในประเทศไทยได้รับการหยิบยกมาเล่าสู่กันฟัง อาทิ เมล็ดพันธุ์ราคาแพง เกิดการปลอมปน ไม่ได้คุณภาพ ขาดทักษะในการพัฒนาพันธุ์ข้าว เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพถูกผูกขาดโดยภาคเอกชน ขาดแหล่งรวบรวมและเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าว เป็นต้น
เช่นเดียวกัน ปัญหาสำคัญอีกอย่างของการปลูกข้าว คือ เมื่อชาวนาปลูกข้าวพันธุ์ดีไว้นานๆ จะพบว่าข้าวเหล่านั้นกลายพันธุ์ อันเกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ตามธรรมชาติ เนื่องจากมีการปลูกข้าวหลายสายพันธุ์ในพื้นที่ใกล้เคียง เมื่อข้าวออกดอกพร้อมกัน แมลง ลม จะพัดพาเกสรของดอกข้าวไปผสมข้ามพันธุ์ หรือเกิดจากข้าวพันธุ์นั้นกลายพันธุ์ด้วยตัวเอง
รวมทั้งสาเหตุจากข้าวพันธุ์อื่นปนมากับเครื่องนวดข้าว ยุ้งฉาง หรือภาชนะบรรจุที่มีเมล็ดข้าวเก่าตกค้างปะปนในขณะตกกล้า หว่าน เก็บเกี่ยว นวด ตาก
การปรับปรุงพันธุ์ข้าว จึงเป็นทางเลือกของชาวนาที่จะให้ได้พันธุ์ข้าวตรงตามความต้องการ และเป็นการรักษาพันธุ์ข้าวไม่ให้กลายพันธุ์
"ชาวนาบ้านเราส่วนใหญ่เน้นการปลูกเพื่อขาย ซื้อเมล็ดพันธุ์มาปลูก แล้วขายหมด โดยไม่เก็บเมล็ดพันธุ์เอาไว้ แล้วซื้อเมล็ดพันธุ์อีก กลายเป็นวัฏจักรไม่สิ้นสุด"
ลุงทองเหมาะ แจ่มแจ้ง อายุ 60 ปี เกษตรกรดีเด่นแห่งอ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี ผู้ใช้เวลากว่าค่อนชีวิตทุ่มเทกับการพัฒนาพันธุ์ข้าว ถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตให้ฟัง
"ปัญหาการกลายพันธุ์ของข้าวที่ชาวบ้านมักประสบ เวลานำไปสีข้าว ปริมาณน้ำหนักข้าวจะลดลงกว่าปกติ เวลาหุงรับประทาน รสชาติเปลี่ยนไป ปริมาณสารอาหารที่มีคุณค่าลดน้อยลง ล้วนเกิดจากการกลายพันธุ์ทั้งสิ้น"
ลุงทองเหมาะ แนะหลักการในการคัดเลือกข้าวเพื่อปรับปรุงพันธุ์ ว่า เราต้องรู้จักลักษณะพันธุ์ข้าวที่น่าสนใจ เช่น ลักษณะลำต้น สี อายุ รสชาติ ความต้องการน้ำ และแสง เช่น ข้าวหอมมะลิเป็นข้าวเจ้าไวแสง หรือข้าวปี เปลือกสีฟาง ข้าวสารสีขาวใส เมล็ดยาว ไม่เป็นท้องไข่ หรือท้องปลาซิว คอรวงยาว เวลาหุงมีกลิ่นหอม นุ่ม รสชาติอร่อย เป็นต้น
ขั้นตอนการคัดพันธุ์ข้าวจากรวง ลุงทองเหมาะ ชี้แนะว่า ควรเกี่ยวพันธุ์ข้าวที่ต้องการในแปลงนา โดยเลือกต้นที่ห่างจากพันธุ์อื่นๆ 1-2 เมตร ตามปริมาณที่ต้องการ จากนั้นนำรวงข้าวที่เกี่ยวได้ ไปผึ่งแดด 2-3 แดด ก่อนคัดเลือกรวงที่มีลักษณะรวงใหญ่ ยาว เมล็ดพันธุ์สมบูรณ์ ไม่มีร่องรอยของโรค หรือแมลงรบกวน นำรวงที่คัดเลือกแล้วมานวดรวมกัน ตากแดด แล้วจัดเก็บเพื่อนำไปขยายพันธุ์
ส่วนการป้องกันมิให้เมล็ดข้าวกลายพันธุ์ ทำได้โดยการจัดแบ่งพื้นที่สำหรับปลูกข้าวพันธุ์ที่ต้องการโดยเฉพาะ ระหว่างการเจริญเติบโต หากเห็นต้นข้าวพันธุ์อื่นขึ้นมาปน ให้ถอนทิ้งออกไปทันที ช่วงข้าวเป็นรวง หากเห็นรวงที่ไม่ตรงตามลักษณะพันธุ์ข้าวที่ต้องการ ก็ให้ถอนต้นนั้นทิ้ง
ในการเก็บเกี่ยวเพื่อทำพันธุ์ ให้เกี่ยวรวงข้าวที่อยู่ห่างจากขอบแปลงข้างละ 1 เมตร เพื่อป้องกันการปนกับข้าวอื่นๆ เมื่อนำไปนวด หรือตาก ควรทำความสะอาดเครื่องนวด หรือลานตากทุกครั้ง การทำเช่นนี้ 1-2 ฤดูกาลผลิต ชาวนาจะสามารถรักษาคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดีไว้ได้ หรืออาจได้ข้าวสายพันธุ์ใหม่จากการคัดเลือกได้
"สุดยอดของพันธุ์ข้าวในเมืองไทย คือ หอมมะลิ 105 แต่ด้วยวิถีภูมิปัญญาไทย เราได้คัดพันธุ์ข้าวหอมมะลิแดงได้ โดยคัดแต่เมล็ดแดง ในรวงข้าวหอมมะลิ เมื่อรวบรวมได้ จึงนำมาปลูกเป็นผลสำเร็จ ข้าวหอมมะลิแดง มีลักษณะคล้ายข้าวกล้องทั่วไป แต่มีกลิ่นหอมแบบข้าวหอมมะลิธรรมดา และมีคุณค่าทางอาหารสูง
"ต่อมาได้ปรับปรุงพัฒนาสายพันธุ์ข้าวชนิดใหม่ โดยนำข้าวพันธุ์ไทยธรรมดา (พันธุ์ปทุมธานี 1) มาผสมพันธุ์กับข้าวหอมมะลินาปี และข้าวหอมมะลินาปรัง กลายเป็นสุดยอดพันธุ์ข้าวในชื่อว่า หอมมะลิ 3 ทาง
"ขณะนี้ ผมได้ทดลองนำพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 3 ทาง มาผสมกับข้าวพันธุ์พม่า ซึ่งมีเม็ดสั้นขนาด 5 มิลลิเมตร แต่พอหุงขนาดความยาวจะเพิ่มขึ้นเป็น 10 มิลลิเมตร ผมตั้งสมมติฐานว่า ข้าวพันธุ์พม่าพอมาผสมกับข้าวหอมมะลิ 3 ทาง จะได้เมล็ดพันธุ์ข้าวชั้นเลิศ หุงขึ้นหม้อ เพิ่มขนาดทั้งความกว้าง และยาว โดยอยู่ในขั้นทดลองปลูกในนา
"คาดว่าอีก 3 เดือนข้างหน้า เมื่อได้ข้าวออกรวง ผมจะนำมาหุง เพื่อทดลองชิม หากประสบความสำเร็จ ข้าวชนิดนี้ คงจะกลายเป็นสุดยอดพันธุ์ข้าวที่ดีที่สุด แทนที่หอมมะลิ 105 อย่างแน่นอน"
ลุงทองเหมาะกล่าวบรรยายอย่างอารมณ์ดี
มีข้าวมีคุณภาพ ชาวนาก็มีความสุข

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น